วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ที่มาของการจัดสร้างวัตถุมงคล

 ที่มาของวัตถุมงคล 
                การลงประวัติ  “ วัตถุมงคล ”  ครั้งนี้  เป็นการลงเพื่อรวบรวมวัตถุมงคลที่หลวงปู่สร้างและอนุญาตให้สร้าง  แต่ยังไม่สามารถรวบรวมได้ครบสมบูรณ์เพราะเหตุว่าหลวงปู่สร้างแล้วมอบให้แก่ศิษยานุศิษย์  และพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญ  และมาขอพรขอบารมีจากหลวงปู่  จึงไม่สามารถรวบรวมได้ครบสมบูรณ์  แต่จำเป็นต้องหาข้อมูลและรวบรวมปรับปรุงต่อไป
                อนึ่ง  ในการรวบรวมวัตถุมลคลของหลวงปู่มาลงในครั้งนี้  โดยความจริงแล้ว  หลวงปู่ไม่อยากให้นำมาลงเพราะเหตุว่า  หลวงปู่ไม่ต้องการอุตริอวดอ้างสรรพคุณของวัตถุมงคลของหลวงปู่  ซึ่งหลวงปู่มักจะพูดให้ฟังอยู่เสมอว่า  “ วัตถุมงคลเป็นแค่วัตถุ  หากผู้นำไปไม่เคารพบูชา  ไม่ปฏิบัติชอบแล้ว  ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ”  ผู้เขียนเลยสอบถามหลวงปู่ว่า  “ หลวงปู่ครับ  วัตถุมงคลของหลวงปู่  รุ่นไหนดีที่สุด ”  หลวงปู่ยิ้มแล้วพูดเป็นนัย ๆ ว่า  “ ก็ดีทุกรุ่นนั่นแหละ  ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติ ”  แล้วพูดต่อไปว่า  “ มีแต่ผู้ประสบพบ  พุทธคุณบารมีมาพูดบอกหลวงปู่ว่าแคล้วคลาดอย่างนั้นอย่างนี้  จะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ว่า  ก็แล้วแต่คน ”
กิจวัตรประจำวันของหลวงปู่ 
                หลวงปู่มีกิจวัตรปฏิบัติอย่างไรในแต่ละวัน  หลวงปู่ตอบว่า  “ หลวงปู่จะเข้าจำวัดในเวลาประมาณ  ๑๗.๐๐  น.  และจะตื่นเวลา  ๒๒.๐๐  น.  หากอากาศร้อนหลวงปู่จะสรงน้ำแล้วครองผ้าจีวรสวดมนต์ภาวนาอยู่ในห้องและหลวงปู่จะพักผ่อนจนถึงเวลาประมาณ  ๐๒.๐๐  น.  เมื่อตื่นแล้วเดินจงกรม  หลังจากนั้นจะเข้าไปที่ห้อง  วัตถุมงคล  สวดมนต์ปลุกวัตถุมงคล  และเข้าไปที่ห้องน้ำมนต์ทำการสวดมนต์  ทำน้ำมนต์  จนถึงเวลาประมาณ  ๐๔.๐๐ – ๐๕.๐๐  น.  จะรอรับญาติโยมที่มาขอพรพึ่งบารมี  โดยมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์  จนถึงเวลา  ๐๗.๐๐  น.  จะฉันภัตตาหารเช้า  แล้วรับญาติโยมที่มาขอพรพึ่งบารมี  จนถึงเวลา  ๑๑.๐๐  น.  หลวงปู่จะฉันภัตตาหารเพลต่อจากนั้นหลวงปู่จะพักผ่อนจนถึงเวลา  ๑๔.๐๐  น.  หลวงปู่จะออกมารับญาติโยมต่อ  หากไม่มีญาติโยมมารับ  หลวงปู่จะเดินรอบ ๆ วัด  ดูความเป็นระเบียบเรียบร้อย  และจะดูการทำงานของญาติโยมที่ช่วยพัฒนาวัดจนถึงเวลาประมาณ  ๑๖.๐๐  น.  หลวงปู่จะเรียกโยมอุปัฏฐากมารับปัจจัย  ไปดูแลญาติโยมหากมีสิ่งของเหลือ  จากที่ญาติโยมนำมาถวาย  หลวงปู่จะแจกจ่ายให้ไปจนหมดต่อจากนั้น  หลวงปู่จะเตรียมเข้าจำวัด  พักผ่อนต่อไป  ซึ่งกิจวัตรประจำวันเช่นนี้  หลวงปู่กระทำมาโดยตลอด ”
หลวงปู่สอนไว้ 
                หลวงปู่เคยเล่าให้ฟังว่า  การเคารพบูชาวัตถุมงคลใดใด  อยู่ที่จิตใจความเชื่อถือ  ศรัทธา  เลื่อมใสด้วยจิตที่บริสุทธิ์จึงจะเป็นผล  หรือเป็นคุณแก่ผู้มีวัตถุมงคลจะช่วยส่งเสริมคนที่ปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ  หากผู้มีวัตถุมงคล  แม้จะได้ชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนก็ตาม  ถ้าไม่เคารพนับถือ  ไม่เชื่อศรัทธาไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างจริงใจทำให้สำเร็จ 
                การแสดงความเคารพนับถือ  เชื่อมั่นศรัทธา  เลื่อมใส  หรือปฏิบัติดีชอบในวัตถุมงคลนั้น ๆ ท่านบอกว่าให้นึกภาวนาในใจตลอดเวลาที่เรามีวัตถุนั้นเสมือนหนึ่งมีท่านอยู่กับเราตลอดเวลา  ท่านจึงจะคุ้มครองเรา  และเราก็คิดว่าถ้าเราทำมิดีมิชอบพระก็จะไม่คุ้มครองเรา  เมื่อเราตรึกตรองให้ดี  ในการทำดี  พูดดี  ก็หมายถึงการมี  สติสัมปชัญญะ  คือ  มีสมาธิ  ความสงบ  ความนิ่ง  จิตใจไม่วอกแวก  ไม่วิตกกังวลไม่ทุกข์ร้อน  เราก็จะมีแต่ความสงบเย็น  ความสงบเย็นนี้แหละคือความสุขที่แท้จริงดัง  พุทธสุภาษิตที่ว่า           “ นตฺถิ  สนฺติ  ปรมํ  สุขํ ”  ความสุขอื่นกว่าความสุขไม่มี
ความเป็นอยู่ของหลวงปู่ 
                หลวงปู่เจียม  อติสโย  ท่านมีความเป็นอยู่อย่างสมถะ  เรียบง่าย  มีจริยาวัตรที่งดงามด้วยท่านเคร่งครัด  ปฏิบัติชอบในธรรมวินัย  ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ท่านจะบำเพ็ญสมาธิ  เจริญภาวนา  มีญาณที่แก่กล้า  เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง  เลื่องลือทั่วดินแดนอีสานใต้  ท่านจะมีลูกศิษย์ทุกระดับชั้นตั้งแต่ชาวบ้านธรรม  ทหารหาญ  พ่อค้า  ข้าราชการ  เจ้านายระดับสูง  เมื่อได้เข้ามากราบไหว้บูชาหลวงปู่แล้วก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง  หลวงปู่ก็จะมีวัตถุมงคลให้เป็นการส่งเสริมมงคลให้สูงยิ่งขึ้น  เป็นมหานิยมบ้าง  โชคลาภบ้าง  แคล้วคลาดบ้างหรือสะเดาะเคราะห์  ตัดเคราะห์ให้เบาลงไปบ้าง
                ในเรื่องวัตถุมงคลนี้  ผู้เขียนเคยสอบถามหลวงปู่ว่า  คิดอย่างไรในเรื่องการสร้างวัตถุมงคล  หลวงปู่ตอบว่า  แต่เดิมหลวงปู่ไปธุดงค์แถบจังหวัดจันทบุรี  จังหวัดฉะเชิงเทรา  และจังหวัดสมุทรปราการ  หลวงปู่ได้ไปพบกับเกจิอาจารย์  เช่น  หลวงพ่อคง  ที่อำเภอขลุง  หลวงพ่อต่วน  ที่อำเภอทับไทร  หลวงพ่อจาด  ที่อำเภอบางกระจับและหลวงพ่อเหลือที่วัดสาวชะโงก  ซึ่งเกจิอาจารย์ท่านดังกล่าวได้สร้างตะกรุดให้ญาติโยมไว้บูชา  ต่อมาหลวงปู่ไปธุดงค์แถบจังหวัดอุบลราชธานีจะมีญาติโยมมากราบหลวงปู่และขอวัตถุมงคลหลวงปู่  จึงจารแผ่นทองแดงถักด้ายขาวล้อมรอบตะกรุดมอบให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญ  ต่อมาผู้นำสายร่มมาถวายแก่หลวงปู่  หลวงปู่จึงปรับเปลี่ยนมาร้อยด้วยสายร่มแทน  ตราบเท่าทุกวันนี้
                การสร้างตะกรุดหลวงปู่มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบให้แก่ทหาร  ที่มาปฏิบัติหน้าที่แถบชายแดน  จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดอุบลราชธานี  จังหวัดบุรีรัมย์  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารหาญ  มีผู้กล่าวถึงพระบารมีวัตถุมงคล  ของหลวงปู่ต่าง ๆ นานา  ซึ่งผู้เขียนไม่ขอนำมากล่าว    ที่นี้
                ส่วนรูปเหมือนและพระผงนั้น  หลวงปู่ได้บอกว่าครั้งเมื่อหลวงปู่เดินธุดงค์ไปที่จังหวัดนครสวรรค์ไปพบกับหลวงพ่อจอย  วัดเขาขาด  อำเภอลาดยาว  จังหวัดนครสวรรค์  ได้สนทนาเรื่องการสร้างรูปเหมือน  ให้ญาติโยมไว้บูชา  หลวงปู่เห็นรูปแบบการสร้างจึงนำมาสร้าง  เพื่อให้ญาติโยมไว้บูชา  ซึ่งหลวงปู่ได้สร้างตั้งแต่ปี  ๒๕๑๘  เป็นต้นมา  ศิษยานุศิษย์ที่มีไว้บูชา  ได้กล่าวถึงบารมีของวัตถุมงคลโดยเฉพาะ  สมเด็จวัดอินทราสุการาม  และเหรียญรุ่น  ๑  ว่ามี  บารมีคุ่มครองมากมาย  ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นพุทธศาสนิกชน  และเป็นศิษย์ของหลวงปู่เจียม  อติสโย  “ พระครูอุดมวรเวท ”  ในโอกาสอันเป็นมงคลที่หลวงปู่มีอายุครบ  ๘๙  ปี  ในปี  ๒๕๔๒  นี้  จึงขออนุโมทนาสาธุ  ในบุญบารมีของหลวงปู่ที่ได้สั่งสมตลอดมาจึงเป็นปัจจัยหนุนนำให้หลวงปู่มีพละกำลังสร้างบารมีแผ่ไพศาลตลอดไป